ชุมนุมสมุนไพรไทย

สมุนไพรไทย เป็นภูมิปัญญาที่คนไทยเราทุกคนควรอนุรักษ์ไว้ เนื่องจากเป็นภูมิของบรรพบุรุษ ซึ่งไม่มีชาติใดเหมือน ท่านจะบอกวิธีทำและวิธีใช้ไว้ทุกสูตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมุนไพรไทย ค่อนข้างไม่มีอันตรายแก่ผู้บริโภค เนื่องจากเป็นทั้งอาหารและยาในขณะเดียวกัน

แต่ทุกวันนี้ ค่อนข้างจะนำเคมีภัณฑ์มาใช้กับสมุนไพร เช่น ยาฉีดฆ่าแมลง สารกันบูด สารกันหนู เป็นต้น เพราะฉะนั้น จะให้ดี ต้องทำความสะอาดหรือล้างก่อนที่จะนำไปใช้ จะปลอดภัยที่สุด กระผมอยากให้คนไทยทุกคนอนุรักษ์ไว้เพื่อให้ลูกหลานของคนไทยเราสืบต่อไป อย่าให้ต่างชาติมาแย่งเอาไปจดสิทธิบัตรใด ๆ ทั้งสิ้น

โดยเฉพาะในเว็บบล็อกนี้ ผมได้นำสูตรสมุนไพรมาจากคอลัมน์ "เกษตรกรบนแผ่นกระดาษ" โดยนายเกษตร ที่ลงในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กระผมจึงขออภัยท่านที่ละลาบละล้วงเอามาลง เพราะผมเห็นมันเป็นประโยชน์มาก และหวังว่าท่านคงไม่ว่ากระผม เพราะจะได้เป็นวิทยาทานต่อ ๆ ไป การให้วิทยาทานเป็นธรรมทานชนิดหนึ่งเป็นบุญอย่างยิ่ง จึงขอขอบพระคุณมา ณ เว็บบล็อกนี้โดยความเลื่อมใสท่านยิ่ง ขอบคุณครับ...

ชุมนุมสมุนไพรไทย

อ้อยแดง หายากสรรพคุณดีอ้อยแดง หรือ SUGAR-CANE. SACCHARUM OFFICINARUM LINN. อยู่ในวงศ์ GRAMINERAE เป็นอ้อยที่นิยมปลูกกันตามหัวไร่ปลายนามาแต่โบราณแล้ว เพื่อใช้ประโยชน์ทางยาเท่านั้น เนื่องจากเปลือกต้นของอ้อยแดง มีรสขม และ น้ำที่ได้ก็ไม่หวานแหลมนัก หากปลูกเพื่อปอกเปลือกแล้วควั่นเป็นข้อขาย ไม่มีคนซื้อรับประทานอย่างแน่นอน ลำต้นสูง 2 – 5 เมตร เปลือกต้นเป็นสีม่วงแดงจนเกือบดำ มีไขสีขาวปกคลุม ไม่แตกกิ่งก้าน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปรียาว ปลายแหลม โคนเรียว และเป็นกาบหุ้มลำต้น ผิวใบจะเป็นสีม่วงอ่อนปนสีม่วงเทา ดูแปลกตามาก
ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด ดอกเป็นสีขาว ผล ขนาดเล็ก มักเป็นผลแห้ง ไม่แตกอ้า ภายในมีเมล็ด ขยายพันธุ์ด้วยวิธีปักชำ มีชื่อเรียกอีก คือ อ้อยขม และ อ้อยดำ ชาวจีนนิยมใช้อ้อยแดงทั้งต้น ผูกติดหน้ารถยนต์ที่จะนำตัวเจ้าสาวไปส่งให้บ้านเจ้าบ่าว ถือว่าเป็นมงคลกับคู่แต่งงานเป็นยิ่งนัก ซึ่งอ้อยมีหลายสายพันธุ์ จะมีความแตกต่างกันที่ความสูงของต้น ความยาวระหว่างข้อ และสีของลำต้น แต่ละพันธุ์ยังมีรสชาติต่างกันอีกด้วย
ประโยชน์ทางยา ตำรายาไทย ใช้ลำต้นเป็นยาขับปัสสาวะ โดยใช้ลำต้นสด 70-90 กรัม หือลำต้นแห้ง 30-40 กรัม หั่นเป็นชิ้นเล็ก ต้มกับน้ำจนเดือด แบ่งดื่มวันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหาร แก้ไตพิการ หนองใน ขับนิ่ว และยังใช้ขับเสมหะได้ด้วย ตำรายาโบราณบอกว่า เอาทั้งต้นของอ้อนแดง แบบสด หรือเผาไฟนำไปหีบหรือคั้นเอาเฉพาะน้ำ ซึ่งมีรสหวานขม มีกลิ่นหอมเมื่อถูกเผา กินเป็นยา แก้เสมหะ หืด ไอ แก้ไข้สัมปะชวน ทั้งต้นควั่นตากแห้งต้มน้ำ กินแก้ปัสสาวะพิการ แก้นิ่ว ขัดเบา ช้ำรั่วได้ ตาของอ้อยแดง จะมีรสขมกว่าเปลือกเยอะ นิยมนำไปปรุงเป็นยาแก้ตัวร้อน ดับพิษตานซางในเด็ก และบำรุงธาตุ ทำให้เกิดกำลังดีมาก ใครต้องการต้นอ้อยแดงไปปลูก ลองติดต่อคุณพร้อมพันธุ์ ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร บริเวณโครงการ 21 ทุกวันพุธ – พฤหัสบดี



กระเทียม

กระเทียม
กระเทียม

กระเทียม แก้หูตึง

สมัยโบราณ โรคหูตึง เป็นโรคยอดฮิตที่มีคนเป็นกันเยอะ ส่วนใหญ่มักจะเกิดกับคนที่มีอายุมาก ๆ เมื่อเป็นแล้วหูจะได้ยินบ้างไม่ได้ยินบ้าง ไม่ใช่หูบอดสนิท ใครพูดจาด้วยจะต้องพูดเสียงดัง ๆ จึงจะเข้าใจกัน บางครั้งคุยกันดี ๆ ผู้ที่พูดด้วยลืมตัวนึกว่าคุยอยู่กับคนหูปกติ ลดเสียงพูดลงทำให้คนที่เป็นโรคหูตึงเข้าใจผิดคิดเป็นคนละเรื่องไปก็มี ประเด็นแบบนี้ บรรดาตลกคาเฟ่นิยมนำไปแสดงล้อเลียนเป็นประจำ ผู้เป็นโรคหูตึงบางคนจึงใช้วิธีดูริมฝีปากผู้สนทนาด้วยก็พอเข้าใจได้ คนใกล้ตัวไม่อยากพูดด้วยเพราะรำคาญ ซึ่งในสมัยโบราณหมอยาพื้นบ้าน มีวิธีรักษาหรือแก้โรคหูตึงง่าย ๆ คือเอากระเทียม กะจำนวนตามต้องการตำให้ละเอียดแล้วคั้นเอาเฉพาะน้ำหยอดเข้ารูหู ทิ้งไว้สักระยะแล้วคว่ำให้น้ำออกจากหู ตำหยอดวันละ 3-4 ครั้ง ตามแต่สะดวก 1-2 สัปดาห์ อาการโรคหูตึงจะดีขึ้นและหายได้ เมื่อหายแล้วก็หยุดทำ มีอาการเมื่อไหร่สามารถตำหยอดได้อีก สูตรนี้ใช้หยอดเฉพาะโรคหูตึงอย่างเดียว หากหูเป็นน้ำหนวกใช้ไม่ได้
กระเทียม หรือ ALLIUM SATIVUM LINN. อยู่ในวงศ์ ALLIACEAE ประโยชน์ทางยา ใบ ทำให้เสมหะแห้ง กระจายโลหิต แก้ลม ปวดบวมในท้อง หัว แก้ไอ แก้โรคผิวหนังกลาเกลื้อน บำรุงธาตุ ขับโลหิตระดู แก้โรคประสาท แก้ปวดหู หูอื้อ ระบายพิษไข้ แก้โรคริดสีดวงงอก แก้หืด แก้อัมพาต แก้จุกแน่นเฟ้อ บำรุงปอด แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้ฟกบวม แก้สะอึก แก้โรคปอด และแก้เสมหะ

กระเทียมโทน

กระเทียมโทน
กระเทียมโทน

กระเทียมโทน แก้ไขมันอุดตันเส้นเลือด

โรคไขมันอุดตันเส้นเลือด เป็นภัยเงียบที่คนมักไม่ระวังและเป็นโดยไม่รู้ตัว ส่วนใหญ่เกิดจากการบริโภค เมื่อ เมื่อเป็นแล้วจะอันตรายมาก ดังนั้น ทุกคนควรไปพบแพทย์ตรวจค่าเลือดอย่างสม่ำเสมอ เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคดังกล่าว ในทางสมุนไพร มีวิธีป้องกันหรือไม่ให้ไขมันอุดตันเส้นเลือดได้เช่นกัน คือ ใช้ “กระเทียมโทน” 21 หัว ปอกเปลือกออก เทน้ำผึ้งแท้ลงไปท่วมหัวกระเทียม ปั่นละเอียด เทใส่โหลแก้วปิดฝาสนิทหมักไว้ 7 วัน จึงเปิดฝาตักกินทั้งน้ำและเนื้อก่อนนอน 2 ช้อนโต๊ะ ทำกินให้ตลอด ไม่มีอันตรายอะไร จะช่วยไม่ใช้ไขมันอุดตันในเส้นเลือดได้ แต่วิธีนี้จะรับประทานได้ยากมาก ปัจจุบันมีชนิดบรรจุแคปซูลขายกินง่ายกว่า และได้ผลดีเช่นเดียวกัน
กระเทียมโทน หรือ ALLIUMSATIVUM LINN. อยู่ในวงศ์ ALLACEAE มีสรรพคุณทางสมุนไพรเยอะ เช่น ใบสดร้อนฉุนทำให้เสมหะแห้ง กระจายโลหิต หัวแก้ไอ แก้โรผิวหนัง แก้แผลเน่าเนื้อร้าย บำรุงธาตุ แก้หืด แก้อัมพาต บำรุงปอด แก้วัณโรคปอด ซึ่งในงานวิจัยพบว่า กระเทียม หรือ “กระเทียมโทน” รับประทานแล้วสามารถลดไขมันในเส้นเลือดได้ รักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด ป้องกันเลือดจับตัวเป็นลิ่ม ป้องกันหัวใจขาดเลือด ดังนั้น รับประทานกระเทียม หรือ “กระเทียมโทน” สม่ำเสมอ มีสรรพคุณดีต่อสุขภาพอย่างแน่นอน

กล้วยน้ำว้าดิบ

กล้วยน้ำว้าดิบ
กล้วยน้ำว้าดิบ

กล้วยน้ำว้าดิน กับสูตรอายุวัฒนะ

สูตรยาชนิดนี้ ไม่มีบันทึกในตำรายาแผนไทย นิยมใช้เฉพาะบางพื้นที่ไม่แพร่หลายสู่คนทั่วไป ซึ่งได้มีผู้ใจดีบอกสูตรเป็นวิทยาทาน ให้นำไปปฏิบัติแบบง่าย ๆ คือเอากล้วยน้ำว้าดิบ 5 ผล ทั้งเปลือก หั่นขวางบาง ๆ กับรากโสม หรือ หัวโสมก็ได้ จำนวน 15 กรัม ต้มรวมกันกับน้ำ 1 ลิตร จนเดือด ใส่น้ำตาลทรายแดงเล็กน้อยพอมีรสหวาน ดื่มต่างน้ำ ตลอดไป เป็นยาอายุวัฒนะ หรือ ยาอายุยืน ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคต่าง ๆ โดยก่อนกินยาสูตรนี้ผู้แนะนำสูตรแจ้งว่า ให้อธิษฐานขอเจ้าของสูตรยาตามประเพณี และเมื่อกินยานี้ได้ผลทำให้ร่างกายแข็งแรง หายจากโรคต่าง ๆ แล้วต้องขยันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เจ้าของสูตรยาเป็นประจำด้วย นั่นคือข้อปฏิบัติและวิธีปรุงรับประทาน ลองทำดูนะครับไม่เป็นอันตราย
กล้วยน้ำว้า มีสรรพคุณทางยาคือ ยางสมานแผลห้ามเลือด ผลดิบ แก้ท้องเสีย ผลสุกเป็นยาระบาย หัวปลีแก้โรคเกี่ยวกับลำไส้ แก้โรคโลหิตจาง ลดน้ำตาลในเส้นหรือเบาหวานได้
โสม หรือ PANAX. GIN. SENG-TALINUN PATENS. WILLD อยู่ในวงศ์ ARALIACEAE-PORTULACACEAE ประโยชน์ หัว หรือ รากใหญ่ (มีขายตามร้านยาจีน) มีรสเอียนหวานเล็กน้อย บำรุงกำลัง ทำให้มีน้ำลาย ทำให้เส้นเอ็นมีกำลังยิ่งขึ้น รับประทานมากร่างกายจะเกิดความร้อนจัด ใช้ปรุงผสมกับยาหอมชื่นใจ แต่เพียงเล็กน้อยจะมีคุณภาพดีมาก

น้ำมะนาว-ผงชูรส

น้ำมะนาว-ผงชูรส
น้ำมะนาว-ผงชูรส

น้ำมะนาว-ผงชูรส ถอนพิษแมงป่อง

สมัยก่อน คนชนบทจะถูกแมงป่องต่อยกันเยอะ บางคนแพ้พิษถึงขนาดต้องนอนรักษาอาการอยู่นานหลายวัน อ. ปาจิต แสนเหม อดีตครูบำนาญท่านหนึ่งเล่าประสบการณ์เคยถูกแมงป่องต่อยเจ็บปวดมาก และมีอาการแพ้พิษอย่างรุนแรง นอนซมอยู่กับบ้าน พอญาติ ๆ ทราบเรื่องไปเยี่ยม แนะนำให้ใช้น้ำมะนาว-ผงชูรส กะจำนวนพอที่จะใช้ คนให้เข้ากัน จากนั้นเอาสำลีชุบน้ำแปะบริเวณรอยแผลที่ถูกแมงป่องต่อย จะรู้สึกตัวยาดูดพิษบริเวณที่ถูกต่อยตุ๊บ ๆ ชัดเจน ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที อาการปวดและแพ้พิษจะหายได้เหลือเชื่อ จึงบอกต่อเป็นวิทยาทาน ส่วนจะได้ผลขนาดไหน ใครที่ถูกแมงป่องต่อยนำสูตรทดลองดู เพราะส่วนประกอบหาง่ายในครัวเรือน
มะนาวหรือ CITRUS AURANTIOLIA (CHRISTM. PANZWING) อยู่ในวงศ์ RUTACEAE มีสรรพคุณเฉพาะตามตำรายาแผนไทยคือน้ำมะนาวและผลดองแห้ง เป็นยาขับเสมหะ แก้ไอ แก้โรคเลือดออกตามไรฟัน เนื่องจากมีวิตามินซี น้ำมะนาว เป็นกระสายยาสำหรับสมุนไพรที่ใช้ขับเสมหะ เช่น เข้ากับดีปลี เป็นต้น มีขายทั่วไปตามตลาดสด รวมทั้งผงชูรสด้วยด้วย

บอระเพ็ด

บอระเพ็ด
บอระเพ็ด

บอระเพ็ด กับสรรพคุณทางยา

มีคนจำนวนมากที่ชอบเรื่องเกี่ยวกับสมุนไพรขอให้ช่วยเสนอสรรพคุณของบอระเพ็ดว่าเป็นอย่างไร เพราะในปัจจุบันได้ยินคนพูดกันมากว่า บอระเพ็ด แก้โรคเบาหวานให้หายขาดได้ จึงอยากทราบว่าสรรพคุณที่แท้จริงในตำรายาแผนไทยระบุไว้แบบไหน
ในตำรายาแผนไทย ระบุสรรพคุณของบอระเพ็ดเอาไว้คือ เถา หรือต้น ใช้เป็นยาแก้ไข้ ขับเหงื่อ แก้กระหายน้ำ แก้ร้อนใน โดยเอาเถาหรือต้นสดขนาดยาวประมาณ 2 คืบมือผู้ใหญ่หรือประมาณ 30-40 กรัม ต้มเอาเฉพาะน้ำดื่มหรือต้มเคี่ยวกับน้ำ 3 ลิตร จนเหลือ 1 ลิตร ดื่มก่อนอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้ากับเย็น หรือเมื่อมีอาการไข้จะช่วยให้หายไข้และเนื้อเย็นได้ นอกจากนั้น ยังใช้เป็นยาขมช่วยเจริญอาหารได้ด้วย ผลแก้เสมหะเป็นพิษ รากแก้ไข้พิษอย่างแรง ไม่มีการระบุว่าแก้โรคเบาหวานเลย แต่หากใครรับประทานบอระเพ็ดแล้วเชื่อว่าทำให้เบาหวานหายได้ก็ต้องพิจารณาดู
ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรมได้นำเอาบอระเพ็ดไปผลิตเป็นทิงเจอร์ บอระเพ็ดเพื่อใช้ TincTure Gentian ซึ่งเป็นส่วนผสมของยาธาตุที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศและการทดลองในสัตว์พบว่าน้ำสกัดจากเถาบอระเพ็ด สามารถลดไข้ได้
บอระเพ็ด หรือ TINOSPORA CRISPA (L.) MIERS EX HOOK. FET THOMS อยู่ในวงศ์ MENISPERMACEAE เป็นไม้เถาเลื้อย มีลักษณะคล้ายต้นชิงช้าชาลีมาก จะแตกต่างกันที่เถามีขนาดใหญ่กว่า มีปุ่มปนมากกว่า เถาหรือต้นมีรสขมกว่า และจะไม่มีปุ่มใกล้ฐานใบ ต้น หรือเถา สามารถเลื้อยได้ไกลกว่า 5 เมตร ใบเดี่ยวออกเรียงสลับตามลำต้นเป็นกระจุก 1 – 3 ใบ ก้านใบยาว สีเขียว ใบเป็นรูปหัวใจ ปลายแหลม โคนเว้าลึก
ดอกออกเป็นช่อตามเถาหรือลำต้น ดอกขนาดเล็ก สีเหลืองอมเขียว มีกลีบดอก 4 กลีบ มีเกสรตัวผู้ 6 อัน ปลายเกสรเป็นตุ่มเห็นชัดเจน ผล กลมรสขม ดอกออกตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำต้น นิยมปลูกเพื่อใช้เป็นยาตามบ้าน ตามสวนสมุนไพรทั่วไป

พาร์สเลย์

พาร์สเลย์
พาร์สเลย์

พาร์สเลย์ ผักฝรั่งกินดี

ใครที่ชอบกินอาหารอิตาเลียนหรืออาหารฝรั่ง หรือชอบดูทีวีรายการอาหารฝรั่งจะพบเป็นประจำที่พิธีกรหรือเชฟนำเอาพาร์สเลย์ ผักครัวชนิดหนึ่งมาเป็นส่วนประกอบอาหารหลากหลายชนิด เช่น ปลานึ่ง หรือมะกะโรนี เป็นต้น เวลาปรุงเสร็จเชฟจะเด็ดยอดของพาร์สเลย์ขึ้นวางบนหน้าอาหารจำนวน 1-2 ยอด เพิ่มสีสันให้อาหารดูสวยงามน่ารับประทานมากขึ้นและพาร์สเลย์จะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ทำให้อาหารไม่มีกลิ่นคาวและที่สำคัญ พาร์สเลย์เคี้ยวกินสด ๆ จะช่วยดับกลิ่นปากเด็ดขาดนัก พาร์สเลย์สด มีแพ็กใส่ถุงพลาสติกขายตามห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ ทั่วไป และจะมีปลูกเฉพาะโครงการหลวงทางภาคเหนือไม่แพร่หลายทั่วไป ปัจจุบันเพิ่งจะพบมีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสบดี เมื่อไม่นานมานี้ จึงแนะนำคนชอบผักทันที
พาร์สเลย์ PARSLEY มีชื่อวิทยาศาสตร์ PETROSELINUM CRISPUM อยู่ในวงศ์ UMBELLIFERAE เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กอายุสั้น ต้นและใบคล้ายกับขึ้นฉ่ายมาก แต่ต้นและใบจะแข็งและเหนี่ยวกว่าขึ้นฉ่าย ใบมีขนาดเล็กกว่าขึ้นฉ่ายอย่างชัดเจน ต้นและกิ่งก้านแผ่กระจายกว้างเหมือนกับต้นขึ้นฉ่าย ใบเป็นใบประกอบ มีใบย่อย 5 ใบ เป็นรูปแฉกเหมือนกับใบขึ้นฉ่ายทุกอย่าง สีเขียวสด มีกลิ่นหอมเฉพาะตัวต่างจากกลิ่นของใบขึ้นฉ่าย ในต่างประเทศนิยมใช้ประกอบอาหารและรับประทานตามที่กล่าวข้างต้น ดอกเป็นสีขาว ผลกลมขนาดเล็ก เมื่อแก่เป็นสีน้ำตาลแตกได้ ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
พาร์สเลย์ เมื่อแตกต้นและใบเยอะแล้วเก็บใช้ประโยชน์บ่อย ๆ ต้นจะไม่เจริญเติบโตได้อีกจะตายไป ต้องปลูกใหม่ด้วยการเพาะเมล็ด ปัจจุบัน พาร์สเลย์มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสบดี บริเวณโครงการ 21 แผงคุณพร้อมพันธุ์ ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ในดินทั่วไป สามารถปลูกลงกระถางเพื่อเก็บยอดรับประทานได้
ประโยชน์ของพาร์สเลย์ มีสารขับปัสสาวะ มีธาตุเหล็กป้องกันโรคโลหิตจาง ช่วยให้ระบบการย่อยอาหารและแก๊สในทางเดินอาหารเป็นไปด้วยดี ทำให้ไม่เกิดอาการอึดอัด ลดอาการปวดเสียด แก้โรคหอบหืดลดอาการไอ ช่วยขจัดกลิ่นปากที่เกิดจากแบคทีเรียดีมากครับ.

มะกรูด

มะกรูด
มะกรูด

มะกรูด สูตรแก้ปวดเข่า

อาการปวดเข่า เกิดจากหลายสาเหตุ แต่ถ้าปวดเข่าที่เกิดจากเข่าเสื่อมที่มักจะเกิดกับผู้สูงอายุ และเพิ่งจะรู้ว่าเริ่มมีอาการ ให้เอาผลมะกรูด แบบสด ถ้าผลใหญ่ 8 ผล ผลเล็ก 10 ผล ฝานบาง ๆ ทั้งผลไปตากแห้ง 2-3 วัน จากนั้นเอาไปดองกับเหล้าขาว 28 ดีกรี หรือ 40 ดีกรี ก็ได้ จำนวน 1 ขวด ทิ้งไว้ 7 วัน เอาน้ำที่ดองตักครั้งละพอใช้ทาบริเวณหัวเข่าที่มีอาการปวดตามที่กล่าวแล้วข้างต้น วันละ 2-3 ครั้ง หรือเวลาเกิดอาการปวด ทาอย่างสม่ำเสมอ อาการปวดจะดีขึ้น สูตรนี้บอกต่อกันมาแต่โบราณ ทดลองทำดูไม่อันตรายอะไร
มะกรูด หรือ CITRUS HYSTRIX VARTOROSA อยู่ในวงศ์ RUTACEAE ประโยชน์ทางยา ผลสดนำไปดองเปรี้ยวดองเค็มรับประทานเป็นยาฟอกเลือดในสตรี ขับลมในลำไส้ ขับระดู แก้จุกเสียด แก้เลือดออกตามไรฟัน บำรุงประจำเดือน ผลสดเผาไปสระผมทำให้ผมดกดำ ราก เป็นยากระทุ้งพิษ แก้เสมหะ น้ำมะกรูด มีวิตามินซีใช้ถูฟันแก้เลือดออกตามไรฟันได้
ผิวมะกรูด ปรุงเป็นยาลม มะกรูด 1 ผล ตัดจุกคว้านไส้กลาง ออกเอามหาหิงคุ์ใส่ลงกลางผลแล้วปิดจุกสุมไฟจนดำ หรือเกรียมกรอบทำผงละลายกับน้ำผึ้งป้ายลิ้นเด็กอ่อน ตั้งแต่แรกคลอดเป็นยาขี้เทา ขับลม แก้ปวดท้องในเด็กดีมา ผลมะกรูดมีขายทั่วไปตามตลาดสด ส่วนต้นนิยมปลูกตามบ้านอย่างกว้างขวาง เพื่อเก็บใบประกอบอาหาร

มะเขือยาว

มะเขือยาว
มะเขือยาว

มะเขือยาว อร่อยมีสรรพคุณ

ปัจจุบัน พืชกินได้เกือบทุกชนิดมีราคาแพงมากจนบางครั้งหยิบแทบไม่ติด สาเหตุหลักมาจากสภาพอากาศแล้งจัดและอุณหภูมิสูง ทำให้เกษตรกรที่ปลูกพืชผักกินได้มีผลิตผลน้อยลง ซึ่งพืชผักบางชนิดแม้จะมีวางขายแต่จะไม่มีความสมบูรณ์ รูปทรงแคระแกร็นหรือหงิกงอ บางอย่างถึงกับขาดตลาดไม่มีวางขายเนื่องจากแห้งตายคาสวน จึงทำให้พืชผักกินได้มีราคาแพงเป็นประวัติการณ์
อย่างไรก็ตาม มีหลายคนแก้ไขปัญหาด้วยการปลูกพืชผักกินได้ชนิดปลูกง่ายโตไวลงกระถางตั้งในบริเวณบ้านไว้เก็บกินเอง เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ กะเพรา โหระพา มะเขือเทศ สามารถแก้ไขได้ระดับหนึ่ง ซึ่งมะเขือยาว เป็นพืชผักกินได้ ที่นอกจากปลูกเก็บผลรับประทานในครัวเรือนได้แล้ว บางส่วนของมะเขือยาว ยังมีสรรพคุณทางยาอีกด้วย จึงแนะนำให้ปลูกเสริมเพื่อเก็บผลกินในบ้านอีกชนิดหนึ่ง
มะเขือยาว หรือ SOLANUM MELONGENA LINN. อยู่ในวงศ์ SOLANACEAE เป็นไม้ล้มลุก สูงประมาณ 1 เมตร ลำต้นเดี่ยว แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มแน่น กิ่งอ่อนมักมีขนละเอียดปกคลุมทั่วและมีหนามเล็กสั้นประปราย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับค่อนข้างกลม ปลายแหลม โคนใบเบี้ยว ของใบหยักหรือเป็นคลื่น ท้องใบมีขนนุ่ม ผิวใบสีเขียวสด
ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยว ๆ หรือเป็นช่อ 3-5 ดอก มีกลีบดอก 5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกัน ปลายกลีบแหลม ดอกเป็นสีม่วง กลางดอกมีเกสรตัวผู้ 5 อัน เกสรตัวเมีย 1 อัน อยู่ติดกับกลีบดอก ก้านเกสรและอับเกสรเป็นสีเหลือง ผล รูปกลมยาว มี 2 ชนิดพันธุ์คือพันธุ์ที่ผลเป็นสีเขียว กับ พันธุ์ที่ผลเป็นสีม่วง ผิวผลเรียบเกลี้ยงและเป็นมัน ขั้วผลมีกลีบเลี้ยงสีเขียวติดอยู่ เวลาติดผลดกและผลยาห้อยลงจะดูสวยงามทั้งสีเขียวและสีม่วง ติดผลตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
ประโยชน์ทางสมุนไพร ลำต้นและรากแก้บิดเรื้อรัง อุจจาระเป็นเลือด แผลเน่าเปื่อยอักเสบ ใบ แก้ปัสสาวะขัด แก้โรคหนองใน พอกแผลบวมเป็นหนอง ผลแห้ง ทำเป็นยาเม็ดกินแก้ปวด แก้ตกเลือดในลำไส้ ขับเสมหะ ผลสด ตำพอกแผลอักเสบมีหนอง ขั้วผลแห้ง เผาเป็นเถ้า บอดให้ละเอียดกินเป็นยาแก้ตกเลือดในลำไส้

มะละกอ

มะละกอ
มะละกอ

รากมะละกอ บำบัดเกี่ยวกับไต

ในตำรายาแผนไทยระบุชื่อสมุนไพรมีไม่ต่ำกว่า 19 ชนิด ที่มีสรรพคุณใช้เป็นยาบำบัดเกี่ยวกับไต และในจำนวนนั้นมีมะละกอรวมอยู่ด้วย ตอนนี้จะกล่าวถึงรากมะละกอบำบัดเกี่ยวกับไตเพียงอย่างเดียวก่อน โดยใครที่เริ่มจะมีอาการของโรคไต ไม่ใช่เป็นมานานแล้ว ในตำรายาแผนไทย ให้เอารากมะละกอ กะจำนวนตามต้องการ หรือพอประมาณต้มกับน้ำจนเดือดแล้วดื่มขณะยังอุ่นครั้งละ 1 แกล้ว วันละ 2 ครั้งเช้าเย็นก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ ดื่มจนยาจืด ไม่จำเป็นจะต้องกินติดต่อกันแบบประจำ กินวันเว้นวันหรืออาทิตย์เว้นอาทิตย์ก็ได้ ดื่มประมาณ 1 เดือน จะสังเกตได้ว่าอาการเกี่ยวกับไตจะดีขึ้น ใครที่มีอาการเกี่ยวกับไตใหม่ ๆ ทดลองต้มดื่มได้ไม่มีอันตรายอะไร หากไม่ถูกโฉลกก็หยุดเลย

มะละกอ หรือ CARICA PAPAYA LINN. อยู่ในวงศ์ CARICACEAE มีต้นขายทั่วไปที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสบดี ส่วนผลมีขายตามตลาดสดทั่วไป มีสรรพคุณคือ รากและก้านใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้หนองใน ยางใช้กัดแผลและฆ่าแม่พยาธิทั้งปวง ยาพื้นบ้านบางแห่งใช้ต้นมะละกอที่ไม่สูงใหญ่นักทั้งต้นมัด 3 เปลาะต้มน้ำเดือนรับประทานจนจืดเป็นยาแก้มุตกรีส ขับระดูขาว ใบต้มดื่มเป็นยาบำรุงหัวใจ ขับพยาธิ แก้ไข้ แก้บิด แก้ปวดบวม ขับปัสสาวะ ผลสุก บำรุงน้ำนม ระบายท้อง ยางจากผลดิบกัดหูด ไผ ฝ้า ยาง ทำครีมทากันส้นเท้าแตก

ต้นมะละกอส่วนโคนที่ติดกับดิน หั่นเป็นชิ้นบาง ๆ เล็ก ๆ นวดกับเกลือป่นทำเป็นหัวไชโป๊รับประทานได้ กระดานดำของหมอดูสมัยโบราณทำจากต้นมะละกอแห้งลงรักทาเขม่าไฟเป็นกระดานชนวนที่เบามาก ตกไม่แตก เขียนติดดี ใช้ได้หลายชั่วคน (ปัจจุบันไม่มีแล้ว) ลำต้นกับก้านใบกะพอประมาณต้มน้ำ รวมกับเสื้อผ้า ยกเว้นผ้าห่มซักแทนสบู่ได้อีกด้วย

มะแว้งเครือ

มะแว้งเครือ
มะแว้งเครือ

มะแว้งเครือ

หน้าหนาวตามชนบทจะหนาวเย็นยะเยือกมาก ทำให้เป็นหวัดได้ง่าย ถ้าหวัดลงคอเมื่อใด จะทำให้เกิดเจ็บคอ เกิดอาการไอ มีเสมหะมาก ในทางสมุนไพร มะแว้งเครือเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง ที่สามารถช่วยขับเสมหะได้ โดยตำราสมุนไพรไทยให้ใช้ผลมะแว้งเครือแบบสด ๆ 5 -10 ผล ตำให้ละเอียด คั้นเอาน้ำผสมเกลือนิดหน่อย ใช้จิบบ่อย ๆ หรือรับประทานผลสดทั้งผล เคี้ยวแล้วกลืนใช้สำหรับระงับอาการไอและขับเสมหะ


มะแว้งเครือมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Solanum trilobatum Linn. อยู่ในวงศ์ Solanceae ลักษณะเป็นไม้เลื้อยที่มีหนามแหลมคม หนามโค้งงอ ใบ เป็นใบเดี่ยว ขอบใบหยัก เรียงสลับกัน ก้านใบแกนกลางใบมีหนาม ดอก ช่อ สั้น ๆ ออกตามง่ามใบใกล้ยอด ก้านช่อดอกมีหนาม ดอกย่อยสีม่วงชมพู กลีบรองกลีบดอกเหมือนจาน ปลายแบ่งเป็นแฉก ๆ แฉกจะคงอยู่จนเป็นผล กลีบดอกสีม่วงชมพู ฐานติดกัน เมื่อบานจะแผ่ออกเหมือนจาน ปลายกลีบแบ่งเป็น 5 แฉก เกสรตัวผู้สีเหลือง เห็นรวมกันตั้งเป็นแท่ง ผล เป็น succulent กลม ผลดิบมีสีขาวเทา มีกระสีเขียว เมื่อสุขเปลือกเปลี่ยนเป็นสีแดง นิ่ม ภายในมีเมล็ดแบน ๆ สีน้ำตาลมาก ขยายพันธุ์ด้วยการใช้เมล็ดปลูก สามารถขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิด ควรปลูกในฤดูฝน ปลูกโดยการหยอดเมล็ดลงในหลุมที่ขุดเตรียมไว้แล้ว ลึกประมาณ 2-3 เซนติเมตร รดน้ำให้ชุ่มชื้นหมั่นตรวจตราดูแลไม่ให้มีวัชพืชรบกวน มะแว้งเครือมีวิตามิน เอ และมีสารกลุ่มอัลคาลอยด์ชื่อ Solanine, Solanidine และสารที่ทำให้ผลมะแว้งเครือมีรสขมคือ Tomatid 5-en-3-B-ol


สรรพคุณทางยาและวิธีใช้ แก้อาการไอ และมีเสมหะ และ เจริญอาหาร นำผลแก่ 5-10 ผล โขลกพอแหลก คั้นเอาแต่น้ำผสมเกลือเล็กน้อย จิบบ่อย ๆ หรือใช้ผลสดเคี้ยวกลืนทั้งเนื้อและน้ำจนกว่าอาการจะดีขึ้น มีชื่อเรียกอื่น ๆ เช่น มะแว้งเถา (กรุงเทพฯ), แขว้งเคีย(ตาก) หาได้ทั่วไปตามสวนครัวและตลาดสด


เถาฟักทอง

เถาฟักทอง
เถาฟักทอง

ยางเถาฟักทอง แก้งูสวัด

ในตำรายาแผนไทยจะระบุสรรพคุณของฟักทองไว้ว่า เมล็ดของฟักทองที่มีรสมัน มีฤทธิ์เป็นยาขับพยาธิตัวตืด ขับปัสสาวะ บำรุงร่างกาย รากจากต้นฟักทองรสเย็น ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย แก้ไอ ถอนพิษของฝิ่น น้ำมันจากเมล็ด รสมันหวาน บำรุงประสาท เยื่อกลางผล พอกแก้ฟกช้ำ แก้ปวดอักเสบ

ส่วนสรรพคุณแก้งูสวัด น้อยนักจะรู้จัก เนื่องจากเป็นสูตรนอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น และนิยมใช้กันมาแต่โบราณ จะทราบกันเฉพาะในหมู่หมอยาพื้นบ้านบางพื้นที่เท่านั้น ซึ่งเห็นว่าเป็นสูตรง่าย ๆ จึงแนะนำเป็นวิทยาทานอีกทันที โดยใครที่รู้ว่าตัวเองเริ่มเป็นงูสวัด ให้เอายางเถาฟักทอง อย่าให้ขนจากเถาหรือลำต้นติดลงไปด้วย จากนั้นนำไปทาบริเวณที่เป็นงูสวัด เช้าเย็น ซึ่งทาตอนแรกจะรู้สึกแสบเล็กน้อย ทาประมาณ 3-4 วัน แผลจะค่อย ๆ แห้งและหายได้

ฟักทองหรือ CUCURBITA MAXIMA DUCHESNE อยู่ในวงศ์ CUCURBITACEAE มียอดอ่อนและผลวางขายตามตลาดสดทั่วไป มีประโยชน์ทางอาหารคือ ยอดอ่อน ดอกตูม ใบอ่อน ลวกหรือต้มให้สุกรับประทานกับน้ำพริกชนิดต่าง ๆ ใช้ทำแกงเลียง แกงส้ม ผลแก่ใช้แกงเลียง ผัดไข่ใส่หมู ทำขนมหวาน เช่น ฟักทองเชื่อม สังขยาฟักทอง และแกงบวชฟักทอง รสชาติอร่อยมาก มีชื่อเรียกอีกคือ มะฟักแก้ว (ภาคเหนือ) มะน้ำแก้ว (เลย) น้ำเต้า (ภาคใต้) หมากฟักเหลือง (ฉาน-แม่ฮ่องสอน) หมักอื้อ (เลย-ปราจีนบุรี) เลหืองเคล่า, หมักคี้ล่า และ หมากอึ (ภาคอีสาน)

อั่งซีซั้ว

อั่งซีซั้ว
อั่งซีซั้ว

อั่งซีซั้ว สรรพคุณดี

หลายคนอยากทราบว่าต้น อั่งซีซั้ว เป็นต้นเดียวกับ กำลังเจ็ดช้างสาร หรือไม่ และมีสรรพคุณทางสมุนไพรในด้านไหน ซึ่ง ความจริงแล้วอั่งซีซั้ว เป็นคนละต้นกับต้น กำลังเจ็ดช้างสาร เพราะลักษณะต้นและดอกไม่เหมือนกันอย่างชัดเจน เพียงแต่เป็นไม้อยู่ในสกุลเดียวกัน และคุณค่าทางยาจะมีสรรพคุณใกล้เคียงกันเท่านั้น คนส่วนใหญ่จึงมักจะเข้าใจผิดเป็นประจำว่าเป็นไม้ต้นเดียวกัน ที่สำคัญอั่งซีซั้วจะนิยมใช้อย่างกว้างขวางเฉพาะแพทย์แผนจีน จึงเป็นคนละต้นอย่างแน่นอน


อั่งซีซั้ว เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ต้นสูงประมาณ 50-70 ซม. ลำต้นเป็นสันเหลี่ยมคล้ายต้นแมงลักคา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม รูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายแหลม โคนสอบ เนื้อใบหนา ใบดกและหนาแน่นมาก ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบ ดอกย่อย 3-5 ดอก มีกลีบเลี้ยงรูปกรวยสีเขียว 5 แฉก ดอกโคนเชื่อมกันเป็นหลอดรูปท่อ ปลายแยกเป็นกลีบดอก 2 กลีบ คล้ายปากกำลังอ้า กลีบบนและ


ฮอลลี่ฮ็อค

ฮอลลี่ฮ็อค
ฮอลลี่ฮ็อค

ฮอลลี่ฮ็อค ดอกสวยมีสรรพคุณ

ไม้ต้นนี้ มีถิ่นกำเนิดจากประเทศจีน ประเทศตุรกี และประเทศในแถบเอเชียอีกหลายประเทศ มีด้วยกันหลายสีและหลายสายพันธุ์ โดยมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ใกล้เคียงกัน ซึ่งในประเทศไทยบ้านเราถูกนำเข้ามาปลูกประดับช้านานแล้ว ส่วนใหญ่เท่าที่ทราบมักจะเป็นสายพันธุ์จากประเทศจีน นิยมปลูกเป็นกลุ่มจำนวนหลายต้นประดับสวนหย่อม ส่วนสาธารณะ หรือตาม รีสอร์ตเชิงเขา เวลามีดอกไต่ตามซอกใบจากโคนต้นขึ้นไปจนปลายยอดจูสวยงามยิ่งนัก โดยเฉพาะถ้าปลูกเป็นแถวหรือเป็นกลุ่มหลาย ๆ สี เนื่องต้นของฮอลลี่ฮ็อค จะตั้งตรงและไม่แตกกิ่งก้าน จึงทำให้ดอกดูเรียงกันเป็นระเบียบน่าชมมากนั่นเอง
ฮอลลี่ฮ็อค นอกจากจะมีดอกสวยงามเป็นเอกลักษณ์แล้ว บางส่วนของต้นฮอลลี่ฮ็อค ยังมีประโยชน์ทางสมุนไพรอีกด้วย เช่น รากและเมล็ดใช้เป็นยาแก้โรคกระเพาะ แก้ไข้ รักษาแผลเรื้อรังได้ ดอก นำไปน้มน้ำเดือดดื่มช่วยให้การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น แก้โรคริดสีดวงทวารและโรคประจำเดือนไม่ปกติ
ฮอลลี่ฮ็อค หรือ ALCEA ROSEA LINN. ชื่อสามัญ HOLLYHOCK อยู่ในวงศ์ MALVACEAE เป็นไม้ล้มลุก อายุประมาณ 2 ปี ต้นสูง 0.5 – 2.5 เมตร ลำต้นตั้งตรง ไม่แตกกิ่งก้านสาขาตามที่กล่าวข้างต้น มีขนกระจายทั่วทั้งต้น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ เป็นรูปหัวใจค่อนข้างกลม ขอบใบเป็นคลื่นหรือหยักเป็น 5-7 แฉก ก้านใบยาว ผิวใบสีเขียวสด
ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด ลักษณะดอกมีกลีบเลี้ยงเป็นรูประฆัง ปลายแยก 5 แฉก กลีบดอกมี 5 กลีบ บางครั้งจะซ้อนกัน มีด้วยกันหลายสี เช่น สีขาว สีชมพู และ สีแดง ใจกลางดอกมีทั้งชนิดเป็นสีเหลืองและสีชมพู ดอกเมื่อบานเต็มที่แล้วผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 ซม. มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันจะดูสวยงามน่ารักมาก ผล ค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 ซม. เมล็ดรูปกลมแบน ขอบสองข้างเป็นสัน ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
ปัจจุบัน ฮอลลี่ฮ็อค มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวยจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสบดี บริเวณโครงการ 1 แผงคุณนริศฯ มีเพียงสีเดียว คือ สีชมพู คาราสอบถามกันเอง ปลูกได้ในดินทั่วไป นิยมปลูกประดับเป็นกลุ่มจำนวนหลาย ๆ ต้น หรือปลูกลงกระถางหลาย ๆ กระถางแหลาย ๆ สี ตั้งประดับบริเวณบ้าน สำนักงาน มีแดดส่องถึงตลอดทั้งวัน รดน้ำเช้าเย็น บำรุงปุ๋ยสูตร 16-16-16 เดือนละครั้ง จะมีดอกสวยงามมาก